“เคยคิดอยากจะเลิกขายหลายครั้งแล้ว ลูก 2 คน เรียนมหาวิทยาลัย เราหาเงินคนเดียว ค่าเทอมก็แพง บางวันก็ไม่ได้สักบาท เชื่อไหมว่าสักพักมีคนมาหาติดต่อเรา นี่เป็นเรื่องจริง เขาเป็นผีดี ผีบุญ”

หน้ากากผีตาโขน ศิลปะเด็กด่านซ้าย

คำยืนยันจากปากอภิญญา พรหมพยัคฆ์ หรือพี่อ๋อย อายุ 54 ปี ประธานกลุ่มของที่ระลึกผีตาโขนบ้านหนามแท่น
ก่อนหน้านี้ เมื่อหลายปีที่แล้ว พี่อ๋อยทำงานอยู่กรุงเทพฯ ช่วงปี 2540 ฟองสบู่แตก โดนจ้างออก กลับไปอยู่บ้านเลขที่
115 หมู่ 7 บ้านหนามแท่น ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
2 เดือนระหว่างนั้นนั่งคิดอยู่ว่าจะทำอะไร เพราะที่นี่ทำได้แค่ 2 อย่าง ไม่ขายของชำก็ปล่อยเงินกู้
ปัญหาคือไม่มีสตางค์ แล้วโดยนิสัยไม่ใช่คนโหด
ช่วงเทศกาลผีตาโขน ททท.เข้ามาบูมเรื่องการท่องเที่ยว พี่อ๋อยเห็นชาวต่างชาติมามาก เขาอยากได้หน้ากากที่ใช้เล่น บางคนถึงกับนั่งเฝ้ารอซื้อ
ตอนนั้นคิดได้ทันทีว่า ทำหน้ากากผีตาโขนขาย หลังวันงาน พี่อ๋อยเข้าไปในหมู่บ้าน เห็นหน้ากากผีตาโขนที่วางไว้ในยุ้งข้าว วัสดุที่ใช้คือหวดนึ่งข้าวเหนียวเก่าๆ
ขาดๆ สีที่วาดลายก็หาในท้องถิ่น สีดำจากก้นหม้อ สีแดงจากปูนแดง สีเหลืองจากขมิ้น สีขาวจากปูนขาว ส่วนชุดเสื้อผ้าก็เอาผ้าขาดมาทำชุดใส่ เป็น
งานเก่าไม่สวย ไม่มีราคาค่างวด พี่อ๋อยเจรจาขอหน้ากากผีตาโขนจากยายคนหนึ่ง ยายบอกเอาไปเถอะ
พี่อ๋อยเอามาแล้วดีไซน์ขึ้นมาใหม่ สานขาตั้งโชว์
จากนั้นไปปรึกษาเจ้าพ่อกวน ผู้นำทางศาสนาของชุมชน ถ้าจะทำหน้ากากผีตาโขนเป็นของที่ระลึกขาย จะผิดไหมหรือมีอาเพศอะไรหรือไม่
“ถ้าเป็นหน้ากากผีตาโขนเล็กไม่เป็นไร แต่เป็นผีตาโขนตัวใหญ่คงไม่ได้” เจ้าพ่อกวนว่า
ไตร่ตรองดีแล้วว่าจะทำ พี่อ๋อยก็ไปชวนเด็กในชุมชน ใครอยากได้เงินก็มาทำด้วยกัน

หน้ากากผีตาโขน ศิลปะเด็กด่านซ้าย
เวลาพี่อ๋อยรับออเดอร์มา ก็ปล่อยงานให้เขา ไม่มีการนั่งรวมเป็นกลุ่มใหญ่ จะกระจายงาน แม้กระทั่งคนอายุ 80 ปีก็ยังนั่งสาน
พี่อ๋อยจะเป็นคนออกแบบชิ้นงานเองทุกชิ้น โดยต่อยอดจากงานเก่า อย่างหน้ากากผีตาโขน มักทำแต่ชิ้นใหญ่ๆ ก็ย่อ
ส่วนลง งานชิ้นเล็กๆง่ายๆ ตั้งราคาตั้งแต่สิบบาทจนไปถึงหน้ากากอันที่ซับซ้อนสวยงาม ราคาหลักพันหลักหมื่น
หน้ากากทั้งอันเล็กอันใหญ่ บอกเล่าเรื่องราวประเพณีแห่ผีตาโขนให้ความอุดมสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เราจึงจัดกันทุกปี
ผีตาโขน เดิมเรียกว่าผีตามคน เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจากมหาเวสสันดรชาดก ในทางพระพุทธศาสนา ที่ว่า
ถึงพระเวสสันดรและพระนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาสัตว์ป่ารวมถึงภูตผีที่อาศัยอยู่ในป่าได้ออกมาส่งเสด็จด้วยอาลัย
งานบุญ 3 วัน วันแรก เรียกว่า วันโฮม มีการบายศรีเจ้าพ่อกวน วันที่ 2 คือไฮไลต์ แห่ผีตาโขน ทั้ง 11 ตำบลจะออกมา
รวมกันหมด วันที่ 3 ฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย
จริงๆแล้ว ผีตาโขนเป็นประเพณีโบราณทำสืบให้รุ่นลูกรุ่นหลาน เด็กที่ทำหน้ากากผีตาโขนไม่ได้จบศิลปะ แต่สามารถ
ลากเส้นระบายได้งดงาม พลิ้วไหว เด็กบางคนไปเรียน พอถึงหน้าเทศกาลก็ต้องกลับเพื่อที่จะมาเล่น
เป็นการชุมนุมนัดกัน เหมือนปีใหม่ต้องกลับบ้านทีหนึ่ง
พี่อ๋อยเคยได้ออเดอร์มาเยอะ ไปจ้างเด็กที่จบเพาะช่าง เขาวาดผนังโบสถ์สวยมาก แต่พอมาวาดหน้าผีตาโขน กลับ
ไม่อ่อนไหว ไม่พลิ้ว “ทำไม?” “พี่เองก็บอกไม่ถูก”
หลังจากนั้น พี่อ๋อยก็ต่อยอดงาน หน้ากากผีตาโขน จะไม่ระบุว่ามีลายอะไรบ้าง แล้วแต่จินตนาการของเด็กที่วาด อาจ
เป็นลายโบราณหรือลายใหม่ประยุกต์ แต่ละกลุ่มวาดไม่เหมือนกัน
“แต่ละคนจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่มีการก๊อปกัน” พี่อ๋อยว่า “เราจะรู้เลยว่างานแต่ละชิ้นเป็นของคนไหน เพราะให้
เขาวาดก็ไม่เหมือนคนเดิม ทำยังไงก็จะไม่เหมือนเดิม”
เราบังคับเขาไม่ได้ งานศิลปะบางทีต้องพักมือ ต้องปล่อยให้เขาได้ไปเที่ยวเล่น ไปตกปลา บางทีหายไป 3 วันกลับมา
ส่งงาน พฤติกรรมเขาไม่เปลี่ยน แต่เราต้องเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้งานออกมาได้
พี่อ๋อยจงใจ ชวนไปเจอกับเจ้าของผลงาน เอกภาพ อรรคสูรย์ ชื่อเล่นดอย อายุ 27 ปี บ้านเลขที่ 29 หมู่ 3 บ้านเดิ่น ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
ดอยคุยว่า เข้าร่วมการละเล่นในขบวนแห่ตั้งแต่เด็ก ทำหน้ากากผีตาโขนเป็นตั้งแต่ ป.5 เด็กรุ่นเดียวกันแถวด่านซ้ายเก่งกันเยอะ ทำเป็นเกือบทุกคน แต่ก็ไม่ทุกบ้าาน แต่ละปีมีการคิดลายใหม่ออกมาแข่งกัน
ซุ่มทำกันเป็นสองสามเดือน ดอยเคยได้รางวัลขวัญใจช่างภาพ ขวัญใจประชาชน ได้เงินมาพันสองพัน
“รางวัลไม่เยอะ เป็นค่าน้ำค่าข้าวไว้เลี้ยงน้อง” ดอยว่า “เดี๋ยวนี้ไม่มีประกวดแล้ว”
ที่บ้านดอยมีหน้ากากผีตาโขน 10 กว่าชิ้น เป็นผลงานแต่ละปีที่ตั้งใจไม่ขาย เอาไว้เทียบดูลายไม่ให้ซ้ำ
งานของดอย ปีนี้เริ่มด้วยการออกหากาบมะพร้าวชิ้นส่วนหลักของหน้ากาก ที่ด่านซ้ายทำกันเยอะหายาก ต้องไปหา
แถวพิษณุโลกหรือเพชรบูรณ์ เดินหาตามหลังบ้านคน บางบ้านหมาก็กัด กว่าจะได้แต่ละหน้ายากมาก
กาบมะพร้าวต้องคะเนว่าอายุ 10 ปีขึ้น แผ่นใหญ่ เอามาแช่น้ำอาทิตย์หนึ่งให้อ่อน ดัดใส่วัสดุทรงกลมเข้ากับรูปหน้า
คนใส่ เสร็จแล้วเจาะตา เย็บหวดนึ่งข้าว ใส่จมูกขันนอต ส่วนที่เป็นเขาทำจากปลีมะพร้าวแห้ง ลงสีรองพื้น ลงลาย
ของดอยเป็นลายไทยผสมประยุกต์สมัยใหม่ มีสีสันเพิ่มขึ้น ขั้นตอนสุดท้ายตัดลายดำ
“ลายของผมไม่ซ้ำ ไปตามความคิด ไม่มีแบบแผน คิดออกยังไงก็เขียนอย่างนั้น”
ทำเสร็จแล้ว ดอยก็ใส่ไปร่วมขบวน ไปทุกปี ปีไหนไม่ได้เล่น เหมือนขาดอะไรไป ติดอะไรก็ต้องมา ขาดเรียนก็ยอม
ช่วงก่อนหน้าเทศกาลผีตาโขน 3 เดือน ถ้าขาดเรียน อาจารย์จะรู้ จบจากการคุยกับน้องดอย หันมาคุยกับพี่อ๋อยต่อ พี่อ๋อยสารภาพ
เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อน พอมาทำงานนี้ใจเย็น ภูมิใจที่มาทำเป็นเจ้าแรกและเป็นเจ้าเดียวที่ทำมาสิบเก้าปี ข้อสำคัญได้การตอบรับที่ดี
คนที่ซื้อไปถ้าไม่ชอบจริงๆ เขาไม่ยอมจ่ายเงินพัน การทำงานพวกนี้เป็นอะไรที่คนทำเขาถ่ายทอดจากจิตวิญญาณ
เรามอบสิ่งดีๆให้ลูกค้า บางชิ้นเราชอบเก็บไว้โชว์ เขาก็ขอร้องที่จะซื้อ เราตัดใจขาย เขาก็ขอบคุณ
ลูกค้า 100 คน พี่อ๋อยขอแค่ 10 คน...ที่ใช่ ถือว่าได้เผยแพร่ตัวผีตาโขนไปไกล ไปเกือบจะทั่วโลก บ้านพี่อ๋อยเหมือน
เป็นศูนย์รวมของนักท่องเที่ยว มาแล้วก็มาอีก ในชุมชนก็ถือเป็นการกระจายรายได้ให้ชาวบ้าน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หน้ากากผีตาโขน ศิลปะเด็กด่านซ้าย
หลายปีที่แล้ว มีข้อมูลจาก ททท.สำรวจจากนักท่องเที่ยว ประเพณีไหนของประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวอยากมามาก
ที่สุด หนึ่ง...เทศกาลสงกรานต์ สอง...ประเพณีผีตาโขน
พี่อ๋อยคิดว่า บางทีหน้ากากผีตาโขนไม่ใช่ทำเงินให้ร่ำรวย บางเดือนก็ไม่ได้อะไร แต่เราตั้งใจ จะเป็นเหมือนผู้สืบทอด ไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง
นักท่องเที่ยวเคยถาม เป็นโกสต์ (Ghost) (ผี) หรือก๊อด (God) (พระเจ้า)
“ของพี่เป็นก๊อด (พระเจ้า)” พี่อ๋อยว่า “ถ้าไม่มีเขา (ผีตาโขน) เราคงไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนทุกวันนี้”.

 

 

ขอขอบคุณบทความจาก : http://www.thairath.co.th/content/573147#cxrecs_s

Go to top